วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วิเคราะห์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องสังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต

วิเคราะห์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
ลักษณะมัลติมีเดีย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับประถมศึกษา
เรื่องสังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต
แหล่งที่มาของสื่อมัลติมีเดีย : http://www.horhook.com/content/index.htm

1. ประเภทสื่อ เป็นสื่อประเภท อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-book
2. ส่วนประกอบของสื่อ เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต ประกอบด้วย

1.1 ปก
มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องอะไร มีภาพเคลื่อนไหวที่เป็นรูปเงาะป่าทำให้น่าสนใจ น่าติดตาม
1.2 คำนำ
เพื่อให้ทราบความเป็นมาของสื่อมัลติมีเดีย และบอกรายละเอียดของลักษณะของหนังสือสื่อ รวมทั้งประโยชน์จากการใช้หนังสือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้
1.3 สารบัญ ประกอบด้วย
- จุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับ และ หนังสือสื่อมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องใด
- บทนำ เพื่อแจ้งให้ทราบถึง ความเป็นมาของละครเรื่อง สังข์ทอง ว่าเป็นละครนอก ที่เล่นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งเดิมเป็นนิทาน และนำมาแต่งเป็นละคร โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2 )
- พระราชประวัติผู้แต่ง เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบถึงชื่อ และประวัติของผู้แต่ง
- ตัวละคร ได้บอกชื่อตัวละครในเรื่อง ว่าชื่ออะไร เป็นใคร อยู่ที่ไหน
- ของวิเศษ ได้บอกถึงของวิเศษของเงาะป่า แล้วให้ผู้เรียนใช้เม้าส์ลากของวิเศษมา
- เนื้อเรื่อง มีจำนวน 25 หน้า
- แบบฝึกอ่าน ประกอบด้วย อ่านคำยาก อ่านคำที่มีตัวสะกดในมาตรา แม่กด
แม่ กน อ่านคำที่มี รร ( ร หัน ) อ่านคำที่มี ไม้ทัณฑฆาต อ่านคำพ้องเสียง อ่านคำที่ออกเสียง อะ และ อ่านคำที่ออกเสียง ออ
1.4 ดรรชนี
1.5 คณะผู้จัดทำ

สื่อมัลติมิเดีย เรื่องสังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต นำมาวิเคราะห์ กับทฤษฎีการเรียนรู้แต่ละทฤษฎี ได้ดังนี้
1. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดที่สำคัญ 3 แนวคิด (ทิศนา แขมมณี.2548 : 50 ) ดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Connectionism Theory)
2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory)
3. ทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory)
ทฤษฎีพื้นฐานทางความคิด (assumption) ของทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยม คือ พฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นโดยการเรียนรู้และสามารถสังเกตได้ พฤติกรรมแต่ละชนิดเป็นผลรวมของ การเรียนรู้ที่เป็นอิสระหลายอย่างเสริมแรง (Reinforcement) ช่วยให้พฤติกรรมเกิดขึ้น (สุรางค์ โค้วตระกูล. 2541 : 185 -186)

ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Connectionism Theory)
ทฤษฎีของธอร์นไดค์เรียกว่าทฤษฎีการเชื่อมโยง (Connectionism Theory) ทฤษฎีนี้กล่าวถึงการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus - S) กับการตอบสนอง (Response - R) โดยมีหลักเบื้องต้นว่า “การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยที่การตอบสนองมักจะออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ หลายรูปแบบ จนกว่าจะพบรูปแบบที่ดี หรือเหมาะสมที่สุด เราเรียกการตอบสนองเช่นนี้ว่าการลองถูกลองผิด (Trial and error) นั่นคือการเลือกตอบสนองของผู้เรียนรู้จะกระทำด้วยตนเองไม่มีผู้ใดมากำหนดหรือชี้ช่องทางในการปฏิบัติให้และเมื่อเกิดการเรียนรู้ขึ้นแล้ว การตอบสนองหลายรูปแบบจะหายไปเหลือเพียงการตอบสนองรูปแบบเดียวที่เหมาะสมที่สุด และพยายามทำให้การตอบสนองเช่นนั้นเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าที่ต้องการให้เรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ
จากสื่อมัลติมิเดียที่นำมาวิเคราะห์มีการเร้าความสนใจด้วยการสร้างภาพเคลื่อนไหวทำให้น่าสนใจเหมาะสำหรับการเรียนรู้ ชวนติดตาม กระตุ้นความสนใจ ภาพมีสีสันที่สวยงามทำให้น่าสนใจเหมาะสำหรับการเรียนรู้ ตัวหนังสืออ่านง่ายมีภาพเคลื่อนไหวเป็นพื้นหลังทำให้น่าสนใจ น่าอ่าน น่าฟัง พร้อมเสียงบรรยายที่น่าติดตาม ใช้เสียงพูดในการบรรยายคำศัพท์ และการอ่านทำนองเสนาะ โดยมีปุ่มแสดงเพื่อให้นักเรียนนำรูปภาพมาใส่ในตัวละครให้ถูกต้องและรูปภาพนั้นก็มีสีสันสวยงามน่าสนใจ มีการทำภาพเคลื่อนไหว มีดรรชนีชี้แจงการใช้งานโปรแกรม มีเมนูเข้าใจง่ายซึ่งสิ่งเร้าเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

จากทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ได้ประยุกต์ใช้ในการสร้างสื่อมัลติมิเดียเพื่อจัดการเรียนการสอน คือ
1. การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองบ้าง จะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหา โดยสามารถจดจำผลจากการเรียนรู้ได้ดี รวมทั้งเกิดความภาคภูมิใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
2. การสำรวจความพร้อมหรือการสร้างความพร้อมทางการเรียนให้แก่ผู้เรียนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการก่อนการเรียนเสมอ
3. หากต้องการให้ผู้เรียนเกิดทักษะในเรื่องใดแล้ว ต้องให้ผู้เรียนมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ และให้ผู้เรียนฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
4. เมื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้ว ควรให้ผู้เรียนฝึกนำการเรียนรู้นั้นไปใช้
5. การให้ผู้เรียนได้รับผลที่น่าพึงพอใจ จะช่วยให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ
ซึ่งสอดคล้องกับกฏการเรียนรู้ของ ทิศนา แขมมณี คือ
1. กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดี ถ้าผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ
2. กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) การฝึกหัดหรือกระทำบ่อย ๆ ด้วยความเข้าใจจะทำให้การเรียนรู้นั้นคงทนถาวร ถ้าไม่ได้กระทำซ้ำบ่อย ๆ การเรียนรู้นั้นจะไม่คงทนถาวร และในที่สุดอาจลืมได้
3. กฎแห่งการใช้ (Law of Use and Disuse) การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ความมั่งคงของการเรียนรู้จะเกิดขึ้น หากได้มีการนำไปใช้บ่อย ๆ หากไม่มีการนำไปใช้อาจมีการลืมเกิดขึ้นได้
4. กฎแห่งผลที่พึงพอใจ (Law of Effect) เมื่อบุคคลได้รับผลที่พึงพอใจย่อมอยากจะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าได้รับผลที่ไม่พึงพอใจ จะไม่อยากเรียนรู้ ดังนั้นการได้รับผลที่พึงพอใจ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้

สรุป
จากการเปรียบเทียบทฤษฎีการเรียนรู้กับสื่อมัลติมีเดีย เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต สรุปทฤษฎีที่เกี่ยวข้องคือ
- ทฤษฎีของธอร์นไดค์ ทั้งนี้เพราะ สื่อมัลติมีเดีย เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต เป็นสิ่งเร้าที่น่าสนใจ มีภาพที่เคลื่อนไหว มีเสียงเล่า และมีตัวหนังสือให้ได้อ่าน ได้สังเกตคำ โดยเฉพาะคำที่ เป็นคำใหม่ จะมีแถบสี เพื่อบ่งบอกด้วย และในสื่อมัลติมีเดียเรื่องนี้ ได้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ เช่นการเลือก ของวิเศษของพระสังข์ ซึ่งถือเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้ผู้เรียนอยากตอบสนองสิ่งเร้า ตามหลักเบื้องต้นทฤษฎีของธอร์นไดค์ที่ว่า “ การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยที่การตอบสนองมักจะออกมาในรูปแบบต่าง ๆ หลายรูปแบบ....”



ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม
ทฤษฎีการเรียนรู้ของ กลุ่มเกสตัลท์ ( Gestalt Theory )
ทฤษฎีกลุ่มนี้ มีความเชื่อว่า “ การเรียนรู้ที่ดีย่อมเกิดจากการจัดสิ่งเร้าต่าง ๆ มารวมกัน ให้เกิดการรับรู้โดยส่วนรวมก่อน และจึงแยกวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้ ส่วนย่อยทีละส่วนต่อไป ถ้ามนุษย์หรือสัตว์มองภาพพจน์ของสิ่งเร้าไม่เห็น โดยส่วนรวมแล้ว จะไม่เข้าใจหรือเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง ”
จากสื่อมัลติมีเดีย เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต สอดคล้องกับทฤษฎีของกลุ่มเกสตัลท์ เพราะ สื่อมัลติมีเดีย เรื่องนี้ ได้แยกส่วนประกอบของเรื่อง ไว้เป็นส่วน ๆ เช่น บทนำ พระราชประวัติผู้แต่ง ตัวละคร ของวิเศษ จากนั้นเป็นเนื้อเรื่อง พร้อมภาพประกอบที่มีการเคลื่อนไหว มีคำที่อ่านยาก คำใหม่ในเนื้อเรื่อง พร้อมกับคำอ่าน และความหมาย มีเสียงบรรยายเล่าเรื่อง
จากส่วนประกอบของสิ่งเร้าที่ได้แยกรายละเอียดเป็นส่วนย่อยของเรื่อง ให้ผู้เรียนได้ศึกษา ได้วิเคราะห์ส่วนย่อยทีละส่วนนั้น ทำให้ผู้เรียนเกิดการรับรู้จากสิ่งเร้า คือสื่อมัลติมีเดีย เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต ได้อย่างเข้าใจ และเกิดการเรียนรู้ได้ดี
ทฤษฎีเครื่องหมาย ( Sign Theory )
เอ็ดเวิร์ด ซี. ทอลแมน (Edward C. Taolman) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้เสนอถึงทฤษฎีเครื่องหมาย หรือ ทฤษฎีความคาดหมาย (Expectancy Theory) ซึ่งปรับปรุงมาจากทฤษฎีการแสดงพฤติกรรมสู่จุดหมาย (Purposive behaviorism) โดย ทอลแมน กล่าวว่า “การเรียนรู้เกิดจากการใช้เครื่องหมายเป็นตัวชี้ทางให้แสดงพฤติกรรมไปสู่จุด หมายปลายทาง
หลักการจัดการศึกษา / การสอน ตามแนวคิดของทฤษฎีเครื่องหมาย
1. การสร้างแรงขับ และ / หรือ แรงจูงใจให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนจะกระตุ้นให้ผู้เรียนไปให้ถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการ
2. ในการสอนให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายใด ๆ นั้น ครูควรให้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือ สิ่งอื่น ๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางควบคู่ไปด้วย
3. การปรับเปลี่ยนสถานการณ์การเรียนรู้ สามารถช่วยให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้
4. การเรียนรู้บางอย่างอาจไม่สามารถแสดงออกได้ในทันที การใช้วิธีการทดสอบหลาย ๆ วิธี ทดสอบบ่อย ๆ หรือติดตามผลระยะยาว จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในลักษณะนี้
จากสื่อมัลติมีเดีย เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต สอดคล้องกับทฤษฎีเครื่องหมาย คือ
1. การสร้างแรงขับ และ / หรือแรงจูงใจให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนจะกระตุ้นให้ผู้เรียนไปให้ถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการ โดย มีภาพการเคลื่อนไหว มีสีสัน มีเสียง ได้ลงมือกระทำ จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ของสื่อเรื่องนี้
2. การใช้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางควบคู่ไปด้วย เช่น มีสัญลักษณ์เครื่องหมายให้เปิดหน้าต่อไป ย้อนกลับ ปิดเสียง เปิดเสียง
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา ( Intellectual Development Theory )
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา ของเพียเจต์
เพียเจต์ ( Piaget ) ได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไร เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเพียเจต์เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็กมากกว่าการกระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็วขึ้น
กระบวนการทางสติปัญญา มีลักษณะดังนี้
1. การซึมซับหรือการดูดซึม (Assimilation ) เป็นกระบวนการทางสมองในการรับประสบการณ์เรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาสะสม เก็บไว้เพื่อใช้เป็นประสบการณ์ต่อไป
2. การปรับและจัดระบบ (Accommodation ) คือ กระบวนการทางสมองในการปรับประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ให้เข้ากัน เป็นระบบหรือเครือข่ายทางปัญญาที่ตนสามารถเข้าใจได้ เกิดเป็นโครงสร้างทางปัญญาใหม่ขึ้น
3. การเกิดความสมดุล (Equilibration ) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากขั้นของการปรับ หากการปรับเป็นไปอย่างผสมผสานกลมกลืนก็จะก่อให้เกิดสภาพที่มีความสมดุลขึ้น จากบุคคลไม่สามารถปรับประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เดิมให้เข้ากันได้ ก็จะเกิดภาวะความไม่สมดุลขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้นในตัวบุคคล
หลักการจัดการศึกษา / การสอน ตามทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา ของเพียเจต์
1. ในการพัฒนาเด็ก ควรคำนึงถึงพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กและจัดประสบการณ์ให้เด็กอย่างเหมาะสม กับพัฒนาการนั้นไม่ควรบังคับให้เด็กเรียนในสิ่งที่ยังไม่พร้อม หรือยากเกินพัฒนาการตามวัยของตน เพราะจะก่อให้เกิดเจตคติที่ไม่ดีได้
1.1 การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามวัยของตนสามารถช่วยให้ เด็กพัฒนาไปสู่พัฒนาการขั้นสูงได้
1.2 เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการแตกต่างกัน ถึงแม้อายุจะเท่ากัน แต่พัฒนาการอาจไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบเด็ก ควรให้เด็กมีอิสระที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเขาไปตามระดับพัฒนาการ ของเขา
1.3 ในการสอนควรใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจลักษณะต่างๆ ได้ดีขึ้น แม้ในพัฒนาการช่วงความคิดแบบรูปธรรมเด็กจะสามารถสร้างภาพในใจได้ แต่การสอนที่ใช้อุปกรณ์ที่เป็นรูปธรรม จะช่วยให้เด็กเข้าใจแจ่มชัดขึ้น
2. การให้ความสนใจและสังเกตเด็กอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ทราบลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก
3. ในการสอนเด็กเล็กๆ เด็กจะรับรู้ส่วนรวม (whole) ได้ดีกว่าส่วนย่อย (part) ดังนั้นครูจึงควรสอนภาพรวมก่อนแล้วจึงแยกสอนที่ละส่วน
4. ในการสอนสิ่งใดให้กับเด็ก ควรเริ่มจากสิ่งที่เด็กคุ้นเคยหรือมีประสบการณ์มาก่อน แล้วจึงเสนอสิ่งใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งเก่า การกระทำเช่นนี้ช่วยให้กระบวนการซึมซับและการจัดระบบความรู้ของเด็กเป็นไป ด้วยดี
5. การเปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมากๆ ช่วยให้เด็กดูดซึมข้อมูลเข้าสู่โครงสร้างทางสติปัญญาของเด็กอันเป็นการส่ง เสริมพัฒนาทางสติปัญญาของเด็ก




จากสื่อมัลติมีเดีย เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา ของเพียเจต์ คือ
การสร้างสื่อได้คำนึงถึงพัฒนาการของเด็กในระดับประถมศึกษา ที่ควรได้เรียนรู้กับสื่อประเภทที่มีภาพสมจริง มีภาพเคลื่อนไหว มีเสียงกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากฟังเรื่องราว มีตัวหนังสือให้ได้อ่าน ได้สังเกต มีกิจกรรมให้มีส่วนร่วม ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวบางส่วนก่อน การเรียนรู้ในเนื้อเรื่อง เช่น การให้เลือกของวิเศษของพระสังข์ เรียนรู้ตัวละคร ก่อนการรับฟังเนื้อเรื่อง ทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจ และคุ้นเคยกับตัวละครก่อนว่าชื่ออะไร มีลักษณะอย่างไร อยู่ที่ไหน มีความสัมพันธ์อย่างไร การกระทำเช่นนี้ช่วยให้กระบวนการซึมซับและการจัดระบบความรู้ของเด็กเป็นไป ด้วยดี อีกทั้งเป็นเรื่องที่ ไม่ยากสำหรับเด็กในระดับประถมศึกษา เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในระดับนี้
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา ของบรุนเนอร์
บรุนเนอร์ (Bruner) เป็นนักจิตวิทยาที่สนใจเรื่องของพัฒนาการทางสติปัญญาต่อเนื่องจาก
เพียเจต์ บรุนเนอร์เชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจ และการเรียนรู้เกิดจากกระบวนการค้นพบด้วยตัวเอง (discovery learning) แนวคิดที่สำคัญของบรุนเนอร์มีดังนี้

ทฤษฎีการเรียนรู้
1. การจัดโครงสร้างของความรู้ให้มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติ ปัญญาของเด็ก มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
2. การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความพร้อมของผู้เรียน และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนจะช่วยให้การเรียนรู้เกิด ประสิทธิภาพ
3. การคิดแบบหยั่งรู้ (intuition) เป็นการคิดหาเหตุผลอย่างอิสระที่สามารถพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้
4. แรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียน รู้
5. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ แบ่งได้เป็น 3 ขั้น ใหญ่ๆ คือ
5.1 ขั้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) คือ ขั้นของการเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่างๆ การลงมือกระทำช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดี การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ
5.2 ขั้นการเรียนรู้จากความคิด (Iconic Stage) เป็นขั้นที่เด็กสามารถสร้างมโนภาพในใจได้ และสามารถเรียนรู้จากภาพ แทนของจริงได้
5.3 ขั้นการเรียนรู้สัญลักษณ์และนามธรรม (Symbolic Stage) เป็นขั้นการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้
6. การเรียนรู้เกิดได้จากการที่คนเราสามารถสร้างความคิดรวบยอด หรือสามารถสร้างหรือสามารถจัดประเภทของสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
7. การเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุดคือการให้ผู้เรียนค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (discovery learning)
จากสื่อมัลติมีเดีย เรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา ของบรุนเนอร์ คือ
การจัดโครงสร้างของหลักสูตร ความรู้ มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก เพราะเรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต เป็นเรื่องที่น่าสนใจของเด็กช่วงระดับประถมศึกษา และเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป ครูสามารถซักถามตอนท้าย เพื่อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่พระสังข์ว่าทำไมจึงต้องหนีจากนางพันธุรัติ ซึ่งตรงกับการฝึกให้เด็กคิดแบบหยั่งรู้ (intuition) ของบรุนเนอร์ และ สื่อมัลติมีเดีย เรื่องนี้ ได้สร้างโดยใช้รูปภาพที่มีการเคลื่อนไหว และมีสีสัน และเป็นการฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้นามธรรม และสิ่งที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น มีคำกลอน และมีคำยาก ให้ฝึกอ่าน เพื่อให้ได้รู้ความหมาย หลังจากที่ได้เรียนรู้ในเนื้อเรื่องจบแล้ว

ทฤษฎีการเรียนรู้ของไทเลอร์ (Tylor) ความต่อเนื่อง (continuity) หมายถึง ในวิชาทักษะ ต้องเปิดโอกาสให้มีการฝึกทักษะในกิจกรรม และประสบการณ์บ่อย ๆ และต่อเนื่องกัน การจัดช่วงลำดับ (sequence) หมายถึง หรือการจัดสิ่งที่มีความง่ายไปสู่สิ่งที่มีความยาก ดังนั้นการจัดกิจกรรมและประสบการณ์ จึงควรให้มีการเรียงลำดับก่อนหลัง เพื่อให้ได้เรียนเนื้อหาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น มีการบูรณาการ (integration) หมายถึง การจัดประสบการณ์จึงควรเป็นในลักษณะที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนความคิดเห็นและได้แสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกัน เนื้อหาที่เรียนเป็นการเพิ่มความสามารถทั้งหมดของผู้เรียนที่จะได้ใช้ประสบการณ์ได้ในสถานการณ์ ต่าง ๆ กัน ประสบการณ์การเรียนรู้จึงเป็นแบบแผนของปฏิสัมพันธ์ (interaction) ระหว่างผู้เรียนกับสถานการณ์ที่แวดล้อม
จะเห็นได้ว่าลักษณะสื่อมัลติมีเดีย เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ใช้เทคนิคเพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้เรียนก่อนเริ่มเรียน โดยการผสมผสานข้อมูล และการออกแบบ ที่เร้าความสนใจให้นักเรียนได้ลงมือทำ สร้างความน่าสนใจในการศึกษาบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ใช้ภาพและกราฟิกประกอบการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหา คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนในแง่ของการเลือกเนื้อหาการเรียน การเลือกกิจกรรมการเรียน การควบคุมการศึกษาบทเรียน การใช้ภาษา การใช้กราฟิกประกอบบทเรียนมีการชี้แนะในรูปแบบที่เหมาะสม หากเนื้อหาที่ศึกษามีความซับซ้อน หรือมีโครงสร้างเนื้อหาที่เป็นหมวดหมู่และสัมพันธ์กัน ก็มีปุ่มให้เลือกที่จะทำกิจกรรมนั้นๆโดยโอกาสให้ผู้เรียนทบทวนความรู้เดิมที่สัมพันธ์กับความรู้ใหม่ในรูปแบบที่เหมาะสม
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มการประมวลสารสนเทศ (Information Processing Theory)
ความเป็นมา และแนวคิดของทฤษฎี
ทฤษฎีประมวลสารสนเทศ (Information Processing Theory) หรือทฤษฎีกระบวนการทางสมองในการประมวลผลข้อมูล ทฤษฎีนี้ให้ความสนใจกับธรรมชาติของผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ที่ active (มีความตื่นตัวในการเรียน) หรือกล่าวได้ว่า การแสดงพฤติกรรมหรือการเรียนรู้จะเกิดจากความต้องการของผู้เรียน ซึ่งการเรียนรู้นั้นเป็นผลเนื่องมาจากปฏิสัมพันธ์สิ่งเร้าที่มาจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ข้อมูลหรือความรู้ที่ต้องการเรียน กับ ตัวผู้เรียน
คลอสเมียร์ (Klausmeier,1985:108) ได้อธิบายการเรียนรู้ของมนุษย์โดยเปรียบเทียบการทำงานของคอมพิวเตอร์กับการทำงานของสมอง ซึ่งมีการทำงานเป็นขั้นตอนดังนี้ คือ
1. การรับข้อมูล (Input) โดยผ่านทางอุปกรณ์หรือเครื่องรับข้อมูล
2. การเข้ารหัส (Encoding) โดยอาศัยชุดคำสั่งหรือซอฟต์แวร์ (Software)
3. การส่งข้อมูลออก (Output) โดยผ่านทางอุปกรณ์
โดยเริ่มต้นจากการที่มนุษย์รับสิ่งเร้าเข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 สิ่งเร้าที่เข้ามาจะได้รับการบันทึกไว้ในความจำระยะสั้น ซึ่งการบันทึกนี้จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 2 ประการ คือ การรู้จัก (Recognition) และความสนใจ (Atention) ของบุคคลที่รับสิ่งเร้า บุคคลจะเลือกรับสิ่งเร้าที่ตนรู้จักหรือมีความสนใจ สิ่งเร้านั้นจะได้รับการบันทึกลงในความจำระยะสั้น (Short-Term Memory) ในการทำงานที่จะเป็นต้องเก็บข้อมูลไว้ใช้ชั่วคราว อาจจำเป็นต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการจำช่วย เช่น การจัดกลุ่มคำ หรือการท่องซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง ซึ่งจะสามารถช่วยให้จดจำสิ่งนั้นไว้ใช้งานได้ การเก็บข้อมูลไว้ใช้ในภายหลัง สามารถทำได้โดยข้อมูลนั้นจำเป็นต้องได้รับการประมวลและเปลี่ยนรูปโดยการเข้ารหัส (Encoding) เพื่อนำไปเก็บไว้ในความจำระยะยาว (Long Term Memory) ซึ่งอาจต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ เข้าช่วย เช่น การท่องซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หรือการทำข้อมูลให้มีความหมายกับตนเอง โดยการสัมพันธ์สิ่งที่เรียนรู้สิ่งใหม่กับสิ่งเก่าที่เคยเรียนรู้มาก่อน ซึ่งเรียกว่า เป็นกระบวนการขยายความคิด (Elaborative Operations Process) ความจำระยะยาวนี้มี 2 ชนิด คือ ความจำที่เกี่ยวกับภาษา (Semantic) และความจำที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ (Affective Memory) เมื่อข้อมูลข่าวสารได้รับการบันทึกไว้ในความจำระยะยาวแล้ว บุคคลจะสามารถเรียกข้อมูลต่าง ๆ ออกมาใช้ได้ ซึ่งในการเรียกข้อมูลออกมาใช้ บุคคลจำเป็นต้องถอดรหัสข้อมูล (Decoding) จากความจำระยะยาวนั้น และส่งต่อไปสู่ตัวก่อกำเนิดพฤติกรรมตอบสนอง ซึ่งจะเป็นแรงขับหรือกระตุ้นให้บุคคลมีการเคลื่อนไหว หรือการพูดสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
จากสื่อมัลติมีเดีย เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต มีการนำเสนอสิ่งเร้าที่ผู้เรียนรู้จักหรือมีข้อมูลอยู่แล้วมาให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรม ซึ่งผู้สอนสามารถเชื่อมโยงไปถึงสิ่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นได้ ในการจัดการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนฝึกท่องคำประพันธ์ และอ่านบทเรียน อ่านคำศัพท์จะทำให้ผู้เรียนได้จำได้ จึงจัดสิ่งเร้าในการเรียนรู้ให้ตรงกับความสนใจของผู้เรียน มีภาพเคลื่อนไหวประกอบกระตุ้นความสนใจและจะช่วยให้ผู้เรียนใส่ใจรับรู้สิ่งนั้น และนำไปเก็บบันทึกไว้ในความจำสามารถเรียกออกมาใช้งานได้ในระยะสั้นและระยะยาว
สื่อมัลติมีเดียเพื่อการนำเสนอ
สื่อมัลติมีเดีย เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต เป็นสื่อมัลติมีเดีย ทั้งนี้เพราะ เป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการนำเสนอโปรแกรมประยุกต์ ซึ่งรวมถึงการนำเสนอข้อความสีสันภาพกราฟิก (Graphic images) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เสียง (Sound) มัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์ (Interactive Multimedia) เป็นโปรแกรมประยุกต์ที่รับการตอบสนองจากผู้ใช้ เมาส์ (Mouse) หรือตัวชี้ (Pointer)
มัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง:หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
สื่อมัลติมีเดีย เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพราะ มีโครงสร้างเหมือนๆกับหนังสือเล่มทั่วๆไป โดยจะประกอบด้วยหน้าปกหน้า-หลัง , สารบัญ ,เนื้อหาภายในเล่ม และดัชนี เนื้อหาภายในเล่มแบ่งออกเป็นบทแต่ละบท ในแต่ละหน้าจะประกอบด้วยตัวอักษร, ภาพนิ่ง , ภาพเคลื่อนไหว ,เสียง (ปรากฎเป็นปุ่มไว้ให้กดเรียก)
โครงสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book Construction)
สื่อมัลติมีเดีย เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต มีลักษณะโครงสร้างของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย
• หน้าปก (Front Cover)
• คำนำ (Introduction)
• สารบัญ (Contents)
• สาระของหนังสือแต่ละหน้า (Pages Contents)
• อ้างอิง (Reference)
• ดัชนี (Index)
• ปกหลัง (Back Cover)
หน้าปก หมายถึง ปกด้านหน้าของหนังสือซึ่งจะอยู่ส่วนแรก เป็นตัวบ่งบอกว่าหนังสือเล่มนี้ชื่ออะไร ใครเป็นผู้แต่ง
คำนำ หมายถึง คำบอกกล่าวของผู้เขียนเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ ของหนังสือเล่มนั้น
สารบัญ หมายถึง ตัวบ่งบอกหัวเรื่องสำคัญที่อยู่ภายในเล่มว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง อยู่ที่หน้าใดของหนังสือ สามารถเชื่อมโยงไปสู่หน้าต่างๆ ภายในเล่มได้
สาระของหนังสือแต่ละหน้า หมายถึง ส่วนประกอบสำคัญในแต่ละหน้า ที่ปรากฏภายในเล่ม ประกอบด้วย
• หน้าหนังสือ (Page Number)
• ข้อความ (Texts)
• ภาพประกอบ (Graphics) .jpg, .gif, .bmp, .png, .tiff
• เสียง (Sounds) .mp3, .wav, .midi
• ภาพเคลื่อนไหว (Video Clips, flash) .mpeg, .wav, .avi
• จุดเชื่อมโยง (Links)
อ้างอิง หมายถึง แหล่งข้อมูลที่ใช้นำมาอ้างอิง อาจเป็นเอกสาร ตำรา หรือ เว็บไซต์ก็ได้
ดัชนี หมายถึง การระบุคำสำคัญหรือคำหลักต่างๆ ที่อยู่ภายในเล่ม โดยเรียงลำดับตัวอักษรให้ สะดวกต่อการค้นหา พร้อมระบุเลขหน้าและจุดเชื่อมโยง
ปกหลัง หมายถึง ปกด้านหลังของหนังสือซึ่งจะอยู่ส่วนท้ายเล่ม

ศึกษาเนื้อเรื่อง สังข์ทอง ตอน พระสังข์หนีนางพันธุรัต เพิ่มเติมได้ที่
http://www.horhook.com/content/index.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น